topi.prelol.com
Nissan Leaf 2019 ใหม่ เป็นหนึ่งในรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) จากจำนวนหลายรุ่นที่วางจำหน่ายในบ้านเราขณะนี้ แม้ว่าหลายคนอาจเบ้ปากด้วยราคาค่าตัวสูงเกินกว่าที่คิดไว้ แต่ก็แลกมาด้วยสมรรถนะที่ “ดีเกินคาด” จนผมไม่แปลกใจเลยว่าทำไมจึงได้ตำแหน่งรถยนต์ไฟฟ้าขายดีที่สุดในโลกไปครอง แม้ว่าตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในบ้านเรากำลังเติบโตแซงหน้าเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียน อันเป็นผลจากการเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ๆ หลายต่อหลายรุ่น ทั้งจากฝั่งญี่ปุ่นเอย ยุโรปเอย เกาหลีใต้เอย หรือกระทั่งแบรนด์อังกฤษที่ทำการโอนสัญชาติมาแผ่นดินใหญ่เรียบร้อย แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ารถยนต์ไฟฟ้าในระดับ “เข้าถึงได้” ก็มีอยู่เพียงไม่กี่รุ่นเท่านั้น หากจะนับรถยนต์ไฟฟ้าจากแบรนด์เกาหลีใต้ ที่มีราคาจำหน่ายล้วนแต่ไม่ถึง 2 ล้านบาท แต่ก็ยังมีความสะดุดใจเล็กๆ ทั้งด้านชื่อเสียงของแบรนด์ และจำนวนศูนย์บริการในปัจจุบัน นั่นจึงทำให้ทางเลือกของรถยนต์ไฟฟ้าแคบลงไปอีก ซึ่งหนึ่งในทางเลือกเพียงไม่กี่ทาง นั่นก็คือ Nissan Leaf 2019 ใหม่ ที่ผมได้มีโอกาสทดสอบในครั้งนี้ครับ แม้ว่าใครหลายคนจะเคยถอนหายใจออกมาดังๆ เมื่อได้ยินราคาจำหน่ายของ Nissan Leaf ที่พุ่งขึ้นไปเกือบ 2 ล้านบาท บางคนก็ไม่รีรอที่จะหันไปคบกับเอสยูวีไฟฟ้าจากแผ่นดินใหญ่ ด้วยราคาจำหน่ายที่ย่อมเยากว่าหลายแสนบาท แต่เดี๋ยวก่อนครับ เพราะ Nissan Leaf ก็มีดีในแบบของมัน อย่างที่หาไม่ได้ในรถรุ่นอื่นเช่นกัน ซึ่งผมจะเล่าให้ฟังในบทความนี้ Nissan Leaf 2019 ใหม่ ถูกเปิดตัวครั้งแรกเมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา ในงาน Bangkok International Motor Show 2019 แม้ว่าจะกลายเป็นที่ฮือฮาเมื่อค่ายรถยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่นหันมาจับตลาดรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบ แต่หลายคนกลับมองว่าราคาจำหน่ายที่สูงลิ่วอาจทำให้รถรุ่นนี้ไม่คุ้มค่าเงินเอาเสียเลย (ซึ่งผมเองก็เคยเป็นหนึ่งในนั้นเช่นกัน) Nissan Leaf 2019 ทำตลาดในบ้านเราด้วยรุ่นย่อยเดียวเท่านั้น ขณะที่บางประเทศจะมีรุ่น Plus ที่มาพร้อมแบตเตอรี่ขนาดใหญ่กว่า มอเตอร์ไฟฟ้ากำลังสูงกว่า สามารถขับขี่ได้ระยะทางไกลกว่าต่อการชาร์จเต็มแต่ละครั้ง (แต่ราคาจำหน่ายก็สูงขึ้นไปอีกเช่นกัน) Nissan Leaf 2019 ที่วางจำหน่ายในปัจจุบันถูกพัฒนาเป็นเจเนอเรชั่นที่ 2 แล้ว หลังจากที่เจเนอเรชั่นแรกสามารถกอบโกยยอดจำหน่ายเป็นกอบเป็นกำจากทั่วโลก ถูกออกแบบให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้าแท้ๆ ตั้งแต่เริ่มต้น จึงมีความลงตัวกว่ารถไฟฟ้าที่ถูกดัดแปลงมาจากแพล็ตฟอร์มเครื่องยนต์สันดาป และเหมาะสมกับระบบขับเคลื่อนไฟฟ้ามากกว่า อุปกรณ์มาตรฐานภายนอกของ Nissan Leaf EV ประกอบด้วย ไฟหน้าแบบ LED พร้อมระบบปรับสูง-ต่ำอัตโนมัติ, ไฟส่องสว่างเวลากลางวันแบบ LED, ไฟตัดหมอกคู่หน้า, กระจังหน้าแบบทึบตกแต่งด้วยสีฟ้า, ที่ปัดน้ำฝนแบบตั้งเวลาหน่วง และปรับตามความเร็วรถ, กระจกมองข้างปรับ-พับด้วยไฟฟ้า และล้ออัลลอยขนาด 17 นิ้วสีทูโทน ตัวถังมีให้เลือกเฉพาะสีขาว Brilliant White Pearl ตัดกับหลังคาสีดำเท่านั้น โดยยังรวมไปถึงเสา A-pillar, เสา C-pillar และฝาครอบกระจกมองข้างที่ล้วนแต่เป็นสีดำทั้งหมด ภายในห้องโดยสารถูกตกแต่งด้วยโทนสีดำ เบาะนั่งคู่หน้าเป็นแบบปรับมือ ฝั่งผู้ขับขี่สามารถปรับสูง-ต่ำได้, พวงมาลัยมัลติฟังก์ชั่นแบบ 3 ก้านท้ายตัดหุ้มหนัง ปรับได้เฉพาะสูง-ต่ำเท่านั้น ไม่สามารถปรับระยะเข้า-ออกได้, กระจกไฟฟ้าปรับขึ้น-ลงอัตโนมัติฝั่งผู้ขับ พร้อมระบบป้องกันหนีบ Jam Protection, ระบบ Cruise Control, กุญแจ Intelligent Key พร้อมปุ่มสตาร์ท Push Start Button, เบรกมือไฟฟ้า E-PKB และระบบปรับอากาศอัตโนมัติ เป็นต้น ชุดมาตรวัดความเร็วเป็นแบบอนาล็อกผสมกับจอ TFT ขนาด 7 นิ้ว ใช้สำหรับแสดงการใช้พลังงานขณะขับขี่, แสดงสถานะการชาร์จแบตเตอรี่, ข้อมูลเวลาการชาร์จแบตเตอรี่, อุณหภูมิของแบตเตอรี่, อัตราสิ้นเปลืองไฟฟ้า และอื่นๆ ด้านระบบความบันเทิงถูกติดตั้งเครื่องเสียงหน้าจอสีขนาด 5 นิ้ว ไม่มีระบบสัมผัส สามารถใส่แผ่น CD/MP3 ได้ 1 แผ่น มีช่องเชื่อมต่อ AUX และ USB ให้ พร้อมทั้งระบบเชื่อมต่อ Bluetooth สำหรับโทรศัพท์และเล่นเพลงจากมือถือ ขับกำลังเสียงผ่านลำโพง 4 ตำแหน่ง สำหรับคุณภาพเสียงที่ได้ถือว่าค่อนข้างธรรมดา เน้นโทนเสียงแหลม ส่วนเบสแม้ว่าจะปรับจนสุดก็ยังไม่ได้อารมณ์เท่าไหร่นัก เรียกว่าพอฟังเพลง ฟังข่าวทั่วไปได้ หากเทียบกับ Teana ยังถือว่าเป็นรองอยู่พอสมควร หากต้องการคุณภาพเสียงจริงๆ คงต้องเปลี่ยนลำโพงกันใหม่เป็นอันดับแรก นอกจากนี้ Nissan Leaf 2019 ยังมาพร้อมกล้องมองภาพรอบทิศทาง Intelligent Around View Monitor ที่มีระบบเตือนวัตถุและบุคคลที่เคลื่อนไหวจากกล้องรอบคัน Moving Object Detection ได้ ด้านระบบความปลอดภัยถูกติดตั้งระบบเตือนการชนด้านหน้า Forward Collision Warning, ระบบเบรกฉุกเฉิน Forward Emergency Braking, ระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว Vehicle Dynamic Control, ระบบควบคุมเสถียรภาพขณะเข้าโค้ง Intelligent Trace Control, ระบบเบรก ABS/EBD, ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน Hill Start Assist และถุงลมนิรภัย 6 ตำแหน่ง (คู่หน้า, ด้านข้าง และม่านถุงลม) เป็นต้น ขุมพลังของนิสสัน ลีฟเป็นมอเตอร์ไฟฟ้าแบบ AC3 Synchronous ให้กำลังสูงสุด 150 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 320 นิวตัน-เมตร ถ่ายทอดกำลังไปยังล้อคู่หน้าด้วยเกียร์แบบ Single Speed มีอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ในเวลา 7.9 วินาที ติดตั้งแบตเตอรี่แบบลิเธียม-ไอออน ขนาด 40 kWh เคลมระยะทางขับขี่ไว้ 311 กิโลเมตร ตามมาตรฐาน NEDC (ขณะที่ปัจจุบันค่ายรถยนต์ต่างๆ เริ่มเคลมตัวเลขตามมาตรฐาน WLTP ที่ใกล้เคียงกับการใช้งานจริงมากกว่า ซึ่งระยะทางขับขี่ก็จะน้อยกว่ามาตรฐาน NEDC อยู่บ้าง) จุดเด่นสำคัญอย่างหนึ่งที่ Nissan Leaf ยกมาโฆษณาอยู่เสมอ ก็คือ ระบบ e-Pedal ที่สามารถเร่งและหยุดรถได้จากแป้นเดียวโดยไม่ต้องเหยียบเบรก ซึ่งหลักการทำงานของระบบ e-Pedal คือ การเพิ่มปริมาณการ Regenerate ไฟฟ้ากลับไปยังแบตเตอรี่ ส่งผลให้ตัวรถชะลอความเร็วลงทันทีที่ปล่อยเท้าออกจากแป้นคันเร่ง และสามารถหยุดรถจนนิ่งสนิทได้ หากใช้งานจนชินสักหน่อยก็แทบจะไม่ต้องเหยียบเบรกเลย หากใครอยากรู้ว่าแรงเบรกของ e-Pedal ขณะปล่อยเท้ามีมากขนาดไหน ให้ลองนึกภาพรถเกียร์ธรรมดา ที่ขับด้วยความเร็วประมาณ 60 กม./ชม. ในตำแหน่งเกียร์ 2 แล้วลองปล่อยคันเร่งดู นั่นแหละครับ แรงเบรกพอๆ กันเลย เพียงแต่ Nissan Leaf จะชะลอความเร็วได้นุ่มนวลกว่าเท่านั้น ตัวรถจะมาพร้อมระบบชาร์จไฟ Normal Charge (EVSE Cable) ที่สามารถเสียบกับเต้ารับของบ้านได้ทันที ใช้เวลาชาร์จไฟ 0-100% ในเวลา 12 ชั่วโมง แต่หากติดตั้งเครื่องชาร์จไฟแบบ Double Speed Charge ผ่าน Wall Box เพิ่มเติม จะร่นระยะเวลาชาร์จลงเหลือ 6 ชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันนิสสันได้จับมือกับเดลต้าเพื่อวางจำหน่าย Wall Box ให้กับลูกค้าที่ซื้อนิสสันลีฟโดยเฉพาะ สำหรับหัวชาร์จของ Nissan Leaf เป็นแบบ Type I แตกต่างจากรถไฟฟ้าและรถปลั๊กอินไฮบริดรุ่นอื่นๆ ที่ใช้หัวแบบ Type II กันหมด แต่นิสสันก็แก้เกมด้วยการแถมสายแปลง MODE 3 Cable เพื่อให้เสียบกับที่ชาร์จสาธารณะที่เป็นระบบ Type II ได้ จึงไม่ต้องกังวลว่าจะนำรถไปชาร์จตามห้างสรรพสินค้าไม่ได้ ในด้านการรับประกัน (Warranty) นั้น Nissan Leaf มีการรับประกันคุณภาพ 3 ปี หรือ 100,000 กิโลเมตรตามปกติ เสริมด้วยการรับประกันระบบขับเคลื่อนไฟฟ้าเป็นเวลา 5 ปี หรือ 100,000 กิโลเมตร ส่วนแบตเตอรี่มีการรับประกันนาน 8 ปี หรือ 160,000 กิโลเมตร น่าจะช่วยให้ลูกค้ารู้สึกใจชื้นขึ้นไม่มากก็น้อย สำหรับการทดสอบ นิสสัน ลีฟ 2019 ในครั้งนี้ เราจะออกเดินทางจากโรงแรม Veranda High Resort มุ่งหน้าสู่ยอดดอยอินทนนท์ แล้วกลับมาสู่จุดหมายที่โรงแรมเดิม รวมเป็นระยะทางไป-กลับทั้งสิ้น 208 กิโลเมตร แม้ว่าจะห่างจากระยะทางขับขี่ที่เคลมไว้ 311 กิโลเมตรอยู่มากโข แต่ไฮไลท์อยู่ที่การขับรถขึ้นสู่ยอดดอยอินทนนท์นี่แหละ ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีการใช้ไฟมากกว่าทางราบปกติอย่างแน่นอน แต่ก่อนที่ผมจะกล่าวถึงปริมาณแบตเตอรี่ที่ใช้ และปริมาณคงเหลือหลังจบทริป ผมขอเล่าให้ฟังถึงฟีลลิ่งที่ได้จากการขับรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นนี้กันก่อน ห้องโดยสารของ Nissan Leaf ให้ความรู้สึกเหมือนนั่งอยู่ในรถระดับ C-segment ทั่วไป แต่กระนั้น มันก็ยังมีขนาดแคบกว่า Civic FC อยู่นิดหน่อย ขณะที่คุณภาพชิ้นส่วนและการประกอบทำได้ดีสมกับที่นำเข้าจากญี่ปุ่น มีการใช้วัสดุแบบซอฟท์ทัชตามจุดที่สัมผัสกับร่างกายอยู่บ่อยๆ แต่กระนั้น หากมองว่านี่คือรถราคาเกือบ 2 ล้านบาท ก็อาจจะผิดหวังอยู่บ้าง (จะทำอย่างไรได้ ในเมื่อค่าตัวที่พุ่งขึ้นมาขนาดนี้ล้วนแต่เป็นภาษีนำเข้าทั้งนั้น) พื้นที่ภายในห้องโดยสารด้านหลังถือว่าใช้ได้ มีความกว้างขวางพอควร พอให้นั่งโดยสาร 3 คนได้ไม่มีปัญหา แต่ที่น่าสังเกตคือพื้นห้องโดยสารที่ยกสูงขึ้นมาพอสมควร เนื่องจากต้องเจียดพื้นที่ให้กับแบตเตอรี่ถูกติดตั้งไว้ใต้ท้องรถ ทำให้ท่านั่งของผู้โดยสารด้านหลังจะมีลักษณะชันเข่าขึ้นกว่าปกติเล็กน้อย ในด้านการขับขี่นั้น นิสสัน ลีฟ ให้สมรรถนะที่เหนือคาดเลยทีเดียว แม้ว่าเราจะไม่ได้จับอัตราเร่งกันแบบชัดๆ แต่แรงดึงที่ได้จากการกดแป้นคันเร่งแบบเต็มเท้าก็เรียกได้ว่าหลังติดเบาะอยู่เหมือนกัน เนื่องจากแรงบิด 320 นิวตัน-เมตร มีให้เค้นทันทีตั้งแต่เริ่มเหยียบคันเร่ง ส่งผลให้การเร่งแซงทำได้สบายมาก ยิ่งกดคันเร่งลงไปลึกเท่าไหร่ แรงดึงก็เพิ่มขึ้นมาตามใจสั่ง ต่างจากเครื่องยนต์สันดาปที่ต้องรอเชนจ์เกียร์จนเสียจังหวะ แต่สิ่งสำคัญ คือ “ความเนียน” ของคันเร่งและพวงมาลัย ที่ทำได้ดีกว่า MG ZS EV ชัดเจน ตอบสนองได้อย่างรวดเร็ว คาดเดาอาการได้ง่าย ไม่มีอาการ “แปลก” ใดๆ ให้เห็นเลยแม้แต่น้อย จนเรียกได้ว่าแทบไม่ต่างกับรถแฮทช์แบ็คเบนซินปกติ นอกเสียจากกำลังมอเตอร์ไฟฟ้าที่มีให้เค้นอย่างเหลือเฟือเท่านั้น น้ำหนักพวงมาลัยอยู่ในระดับกำลังดี ไม่ไวจนเกินไป มีระยะฟรีนิดหน่อยพอประมาณ ให้ความเบาที่ความเร็วต่ำ และจะค่อยๆ หนักขึ้นเมื่อใช้ความเร็วสูง แม้ว่ามันจะไม่ได้มีชีวิตชีวาเหมือนกับพวงมาลัยของ Mazda3 ที่เราทดสอบก่อนหน้านี้ แต่ก็ถือว่าเพียงพอแล้วสำหรับการขับขี่ทั่วไป โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าที่เน้นการขับขี่ในเมืองเป็นหลักแบบนี้ ขณะที่การเบรกนั้น อาจต้องปรับตัวกันสักเล็กน้อย เพราะช่วงเริ่มต้นกดแป้นเบรกจะพบว่า ความเร็วลดลงน้อยมาก ต้องเพิ่มแรงเบรกจากปกติลงไปอีกนิด ตัวรถจึงจะสามารถชะลอความเร็วลงได้ตามใจคิด แต่กระนั้น ในกรณีเบรกกะทันหัน ก็ถือว่าเอาอยู่อย่างมั่นใจ ในจังหวะขับขึ้นดอยอินทนนท์พบว่า แรงบิดช่วยให้ไต่ขึ้นทางชันได้อย่างสบาย ไม่ต้องรอจังหวะเชนจ์เกียร์เหมือนกับรถทั่วไป ส่งผลให้มีแรงจากมอเตอร์ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง บางจังหวะที่ต้องเร่งแซงรถคันหน้าในขณะไต่ทางชัน ก็ทำได้ง่ายราวกับแซงบนทางราบปกติ เอาเป็นว่าคุณลืมการขับรถขึ้นดอยอินทนนท์แบบเดิมๆ ไปได้เลย เพราะกำลังจากมอเตอร์ไฟฟ้าของนิสสัน ลีฟ ทำให้ผมรู้สึกว่าการขับรถขึ้นเขาเป็นเรื่องง่ายดาย จนไม่ใช่เรื่องที่น่าท้าทายอีกต่อไป เอาล่ะครับ เมื่อเรามาถึงยอดดอยอินทนนท์ หน้าปัดบอกปริมาณแบตเตอรี่คงเหลืออยู่ที่ 27 เปอร์เซ็นต์ และเราก็เพิ่งมาได้แค่ครึ่งทางเท่านั้น ยังเหลือระยะทางกลับโรงแรมอีกกว่า 100 กิโลเมตร ซึ่งทางนิสสันบอกกับเราว่า ช่วงลงดอยอินทนนท์นี่แหละ ถือเป็นทีเด็ดของทริปนี้ เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่ารถยนต์ไฟฟ้า สามารถสร้างพลังงานจากแรงเฉื่อยไปเก็บไว้ในแบตเตอรี่ได้ พูดง่ายๆ คือ นิสสันจะให้เราปั่นไฟเพิ่มในช่วงขาลงดอยอินทนนท์นั่นเอง จากการทดสอบพบว่า หลังจากที่เราพ้นจากช่วงลงเขามาถึงตีนดอยนั้น แบตเตอรี่มีประจุไฟเพิ่มขึ้นเป็น 40 กว่าเปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าเยอะพอสมควรทีเดียว เป็นผลจากการปล่อยคันเร่งในช่วงทางลงบ้าง แตะเบรกบ้าง รวมถึงการใช้ตำแหน่งเกียร์ B ที่เพิ่มปริมาณการชาร์จไฟได้ (ตำแหน่งเกียร์ B จะสามารถหน่วงความเร็วลงคล้ายกับเอนจิ้นเบรกในเครื่องยนต์สันดาป และช่วยเพิ่มการผลิตไฟกลับไปชาร์จยังแบตเตอรี่) จากนั้น เราเดินทางกลับโรงแรมด้วยความเร็วประมาณ 80 กม./ชม. ตลอดทาง จนเหลือปริมาณแบตเตอรี่ ณ จุดหมายอยู่ที่ 20 เปอร์เซ็นต์ กับระยะทางที่รถยังวิ่งต่อได้ 59 กิโลเมตร นั่นแปลว่าหากเราฝืนขับต่อไปจนแบตเตอรี่หมด ก็น่าจะทำระยะทางได้มากกว่า 260 กิโลเมตรอย่างแน่นอน สรุป Nissan Leaf 2019 ใหม่ แม้ว่าจะอ่อนด้อยในเรื่องออปชั่นและราคาจำหน่ายไปพอสมควร แต่ก็แลกมาด้วยสมรรถนะการขับขี่ที่ “เนียน” กว่า MG ZS EV อย่างชัดเจน อีกทั้งยังได้เปรียบในด้านความน่าเชื่อถือ และการใช้งานระยะยาวที่ไว้ใจได้ตามฉบับนิสสัน เหมาะสำหรับใช้งานขับขี่ในเมืองเป็นหลัก หากระยะทางระหว่างบ้านและออฟฟิสอยู่ในระยะ 20-30 กิโลเมตร ระยะการขับขี่ของแบตเตอรี่ก็ไม่ใช่ปัญหาเลย จะชาร์จไฟวันเว้นวัน หรือสามวันครั้งก็ยังไหว ส่วนการขับขี่ระยะไกลก็คงต้องวางแผนหาจุดชาร์จไฟสักนิด แต่ถ้าที่บ้านมีรถอีกคันหนึ่งอยู่แล้วก็ยิ่งสบายใจได้ ปล่อยให้ลีฟทำหน้าที่ในเมืองเป็นหลัก แล้วใช้รถอีกคันสำหรับเดินทางไกล มันจะช่วยคุณประหยัดค่าน้ำมันไปได้โขเลยทีเดียว ราคาจำหน่าย Nissan Leaf 2019 อยู่ที่ 1,990,000 บาท [gallery td_select_gallery_slide="slide" td_gallery_title_input="Nissan Leaf 2019" ids="13552,13554,13556,13558,13560,13562,13564,13566,13568,13570,13572,13574,13576,13578,13580,13582,13584,13586,13588,13590,13592,13594,13596,13598,13600,13602,13604,13606,13608,13610,13612,13614,13616,13618,13620,13622,13624,13626,13628,13630,13632,13634,13636,13638,13640"]
"ไฟฟ้า" - Google News
June 08, 2020 at 10:26AM
https://ift.tt/2MKvjgV
Elektron One ไฮเปอร์คาร์ไฟฟ้า 1360 แรงม้า จากเยอรมนี - Top Gear Thailand
"ไฟฟ้า" - Google News
https://ift.tt/2Wd4Qyj
Mesir News Info
Israel News info
Taiwan News Info
Vietnam News and Info
Japan News and Info Update
https://ift.tt/2SOJ3e7
Bagikan Berita Ini
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
0 Response to "Elektron One ไฮเปอร์คาร์ไฟฟ้า 1360 แรงม้า จากเยอรมนี - Top Gear Thailand"
Post a Comment